วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

วิมานพญาคันคาก จังหวัด ยโสธร


วิมานพญาคันคาก







รู้จัก “พิพิธภัณฑ์พญาคางคก” ยโสธร
อีกไม่นานจังหวัดยโสธรจะมี “พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก” พิพิธภัณฑ์ที่สอดแทรกตำนานเกี่ยวกับพญาคางคกและบั้งไฟ ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องราวอันเป็นตำนานพื้นเมืองของชาวอีสานแล้ว ยังสอดแทรกเรื่องราวด้านวิทยาศาสตร์และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นความโดดเด่นของไทยที่พบได้ทุกภูมิภาคนายสาคร ชนะไพฑูรย์ รักษาการผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) อธิบายถึงการก่อสร้าง “พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก” ว่า ทางจังหวัดยโสธรมีโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับตำนานบั้งไฟ ซึ่งเป็นประเพณีที่โดดเด่นของ จ.ยโสธร แต่ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องของนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ และได้ปรึกษากับ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตเมื่อ 30 เม.ย. 57 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมอบหมายให้ อพวช. เข้าไปดูแลและจัดทำนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์พญาคันคากเป็นพิพิธภัณฑ์แรกใน 3 พิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประเพณีบุญบั้งไฟที่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างก่อน โดยพิพิธภัณฑ์ที่เหลือคือ พิพิธภัณฑ์พญาแถน และพิพิธภัณฑ์พญานาค ซึ่งตามตำนานนั้นพญาคันคากเป็นโอรสของกษัตริย์ แต่มีผิวพรรณเหมือนคางคก ซึ่งภาษาอีสานเรียกว่า “คันคาก” แต่ด้วยมีบุญญาการมากจึงได้รับการช่วยเหลือจากพระอินทร์และเป็นที่นับถือของชาวบ้าน จนลืมเซ่นสรวงบูชาพญาแถน ทำให้พญาแถนไม่ปล่อยฝนลงมาบนโลก
“ตามตำนานชาวอีสาน เชื่อว่าโลกมีโลกมนุษย์และโลกเทวดา โดยโลกมนุษย์อยู่ใต้โลกเทวดา และเรียกเทวดาว่า “แถน” ส่วนฟ้าฝนหรือลมนั้นเป็นอิทธิพลของแถน การที่พญาแถนไม่ปล่อยฝนให้ตกลงบนโลกมนุษย์ทำให้พญาคันคากอาสานำสัตว์ต่างๆ อาทิ ช้าง ม้า วัว ควาย ปลวก ผึ้ง ต่อแตน ขึ้นไปรบกับพญาแถนจนชนะ และปล่อยให้ฝนตกตามเดิม แต่มีข้อแม้ว่าต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบอกกล่าว จึงเป็นที่มาของประเพณีบั้งไฟ” นายสาครกล่าว
รักษาการผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์พญาคันคากจะก่อสร้างเป็นรูปคางคก และนิทรรศการภายในจะบอกเรื่องเกี่ยวกับที่มาของบั้งไฟ โดยจัดฉายเป็นภาพยนตร์ 4 มิติ และนิทรรศการเกี่ยวกับคางคกชนิดต่างๆ ที่พบได้ในเมืองไทยที่มีอยู่กว่า 20 ชนิด ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ อพวช. ร่วมศึกษากับมหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่อาจเพิ่มไปถึงคางคกชนิดต่างๆ ที่พบได้ทั่วโลกซึ่งมีกว่า 500 ชนิด รวมทั้งรวบรวมของดีทางด้านเกษตรกรรมของเมืองยโสธรไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงเกล็ดเล็กเกล็ดน้อย อาทิ จังหวัดยโสธรเป็นจังหวัดที่เกิดขึ้นก่อนจังหวัดอื่นๆ ในอีสานใต้ ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีชื่อว่า “ยศโสธร” ก่อนย่อเป็นยโสธร หรือเป็นจังหวัดที่มีข้าวหอมมะลิอร่อยที่สุดในประเทศไทย
“นัยยะจากตำนานบอกเราเกี่ยวกับเรื่องการเกษตร วัฒนธรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งตอนนี้พิพิธภัณฑ์กำลังก่อสร้างแล้ว และจะแล้วเสร็จในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ส่วนพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ต้องรออนุมัติงบประมาณต่อไป โดยพิพิธภัณฑ์พญานาคมีการสร้างแบบแล้ว แต่เขาสร้างเป็นตัวพญานาคซึ่งแล้วอาจจะไม่ปลอดภัย จึงให้มีการแก้แบบ ส่วนพิพิธภัณฑ์พญาแถนจะเป็นรูปตึกธรรมดา” นายสาครกล่าว